บ่อยครั้งมากที่ผู้คนเดินเข้าไปสัมภาษณ์งานโดยที่แทบจะไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย คุณอาจแปลกใจถ้าเราจะบอกคุณว่าหลายคนที่เข้าไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงแต่กลับต้องเจอกับขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่ไร้ประสิทธิภาพ คุณอาจเดินเข้าไปสัมภาษณ์โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลักษณะงานที่กำลังจะไปสัมภาษณ์พรุ่งนี้คืออะไร นอกจากปัญหาเรื่องระบบการหาพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของบริษัทต่าง ๆ แล้วยังมีปัญหามากมายในขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่อาจทำให้คุณพลาดการได้งานไปแบบที่คุณคาดไม่ถึง เราสรุปปัญหาต่าง ๆ มาให้คุณดังนี้
อัตราการแข่งขัน 1/50
คุณอาจเคยสงสัยว่างานแต่ละงานที่คุณกดสมัครเข้าไปนั้นมีอัตราการแข่งขันมากน้อยขนาดไหนเพราะมันจะส่งผลโดยตรงกับโอกาสการได้งานของคุณ จากประสบการณ์ของทางทีมที่ปรึกษาของเราพบว่าตัวเลขอัตรการแข่งขันของแต่ละงานนั้นอาจมีความแตกต่างกันพอสมควรขึ้นอยู่ปัจจัยอะไรหลายอย่างเช่น บริษัท ตำแหน่งงาน ระดับเงินเดือน สถานที่ทำงาน แต่โดยค่าเฉลี่ยแล้วในแต่ละตำแหน่งงานที่บริษัทประกาสหาคนจะมีคนสมัครเข้ามาประมาณ 50 คน (บางงานอาจมีคนสมัครม่แค่ 20-30 คน ในขณะที่บางงานอาจมากกว่า 500 คน) นั่นหมายความว่าอัตราการแข่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1/50 พูดกันให้ชัด ๆ ก็คือหากคุณอยากจะได้งานนั้นเรซูเม่ของคุณจะต้องดูโดดเด่นเป็นอับดับต้น ๆ กว่าอีกห้าสิบคนนั้น และวิธีการสัมภาษณ์งานของคุณต้องดีกว่าคนอีกห้าสิบคนที่เหลือ คราวนี้คุณอาจเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเรซูเม่ถึงสำคัญและทำไมถึงเตรียมตัวก่อนวันสัมภาษณ์
การค้นหาเรซูเม่ของพนักงานจัดหางานและพนักงานฝ่ายบุคคล
อีกปัญหาสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่สมัครงานไปกี่ครั้งก็ไม่ได้งานสักทีคือเรซูเม่ไม่เคยผ่านตาพนักงานจัดหางานและพนักงานฝ่ายบุคคลเลย คุณอาจสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร สาเหตุก็เพราะเวลาพนักงานพวกนี้หาคนมาสัมภาษณ์นั้นมีคนกดสมัครงานเข้ามามากเกินไป และพวกเขาก็ไม่ได้หาคนให้กับงานแค่ตำแหน่งเดียวด้วย หมายความว่ามีเรซูเม่หลายร้อยฉบับรอให้พวกเขาเปิดอ่านซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะอ่านมันทุกฉบับ วิธีการแก้ปัญหาของพวกเขาคือการค้นจากคีย์เวิร์ดจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหาอาจมีด้วยกัน 3-5 คำหรืออาจมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี ดังนั้นถ้าคุณเดาใจพนักงานเหล่านั้นไม่ออกว่าจะใช้คีย์เวิร์ดใดในการค้นหา โอกาสการได้งานของคุณก็จะเป็นศูนย์ตั้งแต่แรกเลย
การอธิบายประสบการณ์การทำงานที่ไม่ตรงจุดในขั้นตอนการสัมภาษณ์
เรื่องที่อาจทำให้คุณประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการสัมภาษณ์งานคือ สาเหตุส่วนใหญ่ที่คุณตกสัมภาษณ์อาจไม่ใช่คุณมีประสบการณ์ทำงานไม่ตรงกับที่บริษัทมองหา แต่คือการที่คุณเล่าถึงประสบการณ์ทำงานได้ไม่ตรงกับที่ผู้สัมภาษณ์อยากจะฟัง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาน่าปวดหัวมากถ้าคุณเตรียมตัวมาไม่ดีเพียงพอ เพราะคนที่ผิดอาจไม่ใช่คุณแต่อาจเป็นผู้สัมภาษณ์ที่บังเอิญมาถามคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบมากนัก แล้วดันไม่ได้ถามคำถามที่น่าสนใจที่สามารถสร้างบทสนทนาที่ดีแก่คุณได้ พอจบการสัมภาษณ์ก็กลายเป็นว่าคุณมีประสบการณ์ไม่ตรงกับที่พวกเขามองหา แต่จริง ๆ แล้วมันก็แค่คุณไม่ได้มีโอกาสได้เล่าถึงประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับพวกเขาเท่านั้นเอง
การต่อรองเงินเดือนที่ผิดพลาด
ในหลายกรณีขั้นตอนที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คุณพลาดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดายคือขั้นตอนการต่อรองเงินเดือน ซึ่งปัญหานี้อาจมาได้ในหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการต่อรองเงินเดือนที่เร็วเกินไปก่อนเวลาอันควร อาจเป็นเพราะคุณต่อรองเงินเดือนมากเกินไปหรือน้อยเกินไปตั้งแต่ครั้งแรก อาจเกิดจากความไร้เหตุผลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้มีความเป็นไปได้หลากหลายมาก สิ่งนึงที่คุณควรจะรู้คือขั้นตอนการต่อรองเงินเดือนรวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ นั้นจะมีผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่าหนึ่งคนเสมอ ซึ่งบางคนคุณอาจสามารถพูดคุยด้วยได้โดยตรง ในขณะที่บางคนเป็นผู้มีส่วนในการตัดสินใจเรื่องนี้เป็นอย่างมากแต่คุณกลับไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนเหล่านั้นเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรคุณก็จะต้องหาวิธีบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการมีกลยุทธ์ในการต่อรองเงินเดือนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าคุณทำพลาดคุณอาจจะไม่ได้เสียแค่โอกาสได้เงินเดือนที่ดีที่สุดแต่อาจถึงขั้นพลาดโอกาสได้งานเลยด้วยซ้ำ
ขายตัวเองไม่เป็นเพราะไม่รู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของโปรไฟล์ตัวเองดีพอ
ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คุณไม่รู้ว่าในมุมมองของผู้สัมภาษณ์นั้นเขามองว่าเรามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง สิ่งที่ตามมาก็คือคุณก็จะไม่รู้ว่าควรพูดเน้นส่วนไหนมากเป็นพิเศษ และควรหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องอะไรและต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อลบจุดอ่อนของคุณออกจากความกังวลของผู้สัมภาษณ์ได้สำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกันที่คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการหางานมืออาชีพที่จะมองออกว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของโปรไฟล์ตัวเองในมุมมองของการสัมภาษณ์คืออะไร แล้วควรวางแผนการตอบคำถามต่าง ๆ อย่างไร