keenprofile

เข้าใจทีม Tech และทำงานร่วมกับทีม Tech ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในยุค Digital Transformation

คุยกับพี่หนุ่ย พีระพงษ์ นิ่มนนท์ CTO KEEN Profile ประเทศไทย กับข้อข้องใจทำไมทำงานกับทีม Tech ใคร ๆ ก็บอกว่ายาก เจอแบบนี้จะแก้อย่างไร และจะทำยังไงให้เราทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการสร้าง Digital Transformation ให้เกิดขึ้นจริง ๆ ในองค์กรต้องทำอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

เข้าใจทีม Tech  และทำงานร่วมกับทีม Tech ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในยุค Digital Transformation

คุยกับพี่หนุ่ย พีระพงษ์ นิ่มนนท์ CTO KEEN Profile ประเทศไทย กับข้อข้องใจทำไมทำงานกับทีม Tech ใคร ๆ ก็บอกว่ายาก เจอแบบนี้จะแก้อย่างไร และจะทำยังไงให้เราทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อยากจะให้พี่หนุ่ยช่วยเล่าประวัติของพี่หนุ่ยคร่าว ๆ ซักนิดครับ ว่าเป็นอย่างไรถึงได้เข้ามาอยู่ในสายเทคโนโลยีได้ครับ

จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนมาในสายของเทคโนโลยีโดยตรง ส่วนตัวเรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นคนที่สนใจคณิตศาสตร์ แล้วก็ชอบเรียนรู้เรื่องธุรกิจมาก ๆ ตอนจบมาทำงานใหม่ ๆ ก็ทำงานในสายการท่องเที่ยว ดูแลเรื่องแอดมิน พวกเอกสารทั่วไป ตอนที่ทำงานไปช่วงแรก ๆ ก็รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ราบเรียบเกินไปไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเองที่ชอบทำงานคิดวางแผนและแก้ปัญหา จนวันหนึ่งเกิดคำถามขึ้นมาในชีวิตว่า ทำไมบางธุรกิจถึงไม่นำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีจะทำให้การทำงานง่ายขึ้นได้อีกเยอะ จากคำถามตรงนี้ก็เลยจุดประกายให้ตัวเองอยากจะสร้างธุรกิจของตัวเองที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมขึ้นมา ถ้าเราทำได้เอง เข้าใจทั้งธุรกิจ เข้าใจทั้งเทคโนโลยี นี่ก็จะช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ในการธุรกิจได้เยอะ เลยเริ่มศึกษาการทำ Website และ การเขียนโปรแกรมอย่างจริงจัง แล้วก็เริ่มสายงานที่อยู่ในสายเทคโนโลยีแบบเต็มรูปแบบ

การที่ไม่ได้จบสายเทคโนโลยีมาโดยตรงมีข้อดีข้อเสียในการทำงานด้านนี้หรือไม่ครับ

จริง ๆ มองว่าเป็นข้อดีมากกว่า เพราะว่า อย่างไรแล้วงานสายเทคโนโลยีเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาไม่สามารถหยุดนิ่งได้ เทคโนโลยีมาใหม่เสมอ แต่ข้อดีของการที่เรียนสายอื่นมาก็ช่วยให้มีวิธีคิดในการทำงานที่แตกต่างออกไป เพิ่มลูกเล่นในส่วนของมุมมองในการทำงานให้หลากหลายมากขึ้นได้

จากที่อยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยีมามากกว่า 10 ปี เป็นทั้งลูกน้อง เป็นทั้งหัวหน้า พี่หนุ่ยคิดว่าทีมเทคโนโลยีไม่เหมือนทีมอื่นในองค์กรอย่างไรบ้างครับ

ต้องเข้าใจก่อนว่า จริง ๆ แล้วทีมเทคโนโลยีหรือที่เราคุ้นกันว่าทีม IT จริง ๆ ก็เหมือนกับทีมอื่น ๆ ในองค์กร ต่อให้เราอยู่กับเทคโนโลยีเราก็ยังมีคนเป็นส่วนสำคัญในการทำงานเหมือนกัน โครงสร้างของทีมก็มีหัวหน้า ลูกน้อง เหมือนกัน ต้องการหัวหน้าในการตัดสินใจ การเป็นผู้นำ ก็คือไม่ได้แตกต่างจากทีมอื่น แต่สิ่งที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ทีมนี้จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นหลักมากกว่าทีมอื่น ๆ

ถ้าทีมเทคโนโลยีคล้าย ๆ กับทีมอื่น พวกเขามีสไตล์ที่แตกต่างจากทีมอื่นบ้างหรือไม่ครับ

ทีมเทคโนโลยีเป็นทีมที่ชอบความทันสมัย เป็นวัยรุ่นที่ไม่หยุดอัพเดทข่าวสาร ทันคน ทันเวลา ทันสถานการณ์ตลอด เป็นคนที่รู้รอบไม่ทุกอย่าง เพราะหยุดที่จะอัพเดทอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้ เพราะชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เลยเป็นเรื่องไม่ยากที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองถ้ามีสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า การที่จะทำงานกับทีมนี้ก็ง่ายนิดเดียว คนทีมนี้ชอบทำงานกับคนใช้เหตุและผลมากกว่าการสั่งให้ทำ

ย้อนกลับไปพี่หนุ่ยคิดว่า ทีมเทคโนโลยีในอดีตกับปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างครับ

ในสมัยก่อนทีมเทคโนโลยีไม่ว่าจะบริษัทไหน ๆ จะเติบโตช้ามาก เหมือนเป็นตำแหน่งจับฉ่าย เป็นตำแหน่งทั่วไปในบริษัท เช่น ซ่อมปริ้นเตอร์ ซ่อมสาย Lan ช่วยลงวินโดว์ให้ คนอื่นจึงมองและจำคนในทีมเทคโนโลยีเป็นในลักษณะนี้ตั้งแต่เมื่อก่อน ปัจจุบันก็ยังมีคนที่มองเป็นแบบนั้นอยู่บ้าง แต่เทรนด์เทคโนโลยีที่เติบโตเร็วขึ้น เลยทำให้เห็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนขึ้น เกือบทุกบริษัทก็เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของบริษัท ทีมเทคโนโลยีเลยเป็นทีมที่เรียกว่าเป็นอีกทีมที่เป็นหัวใจสำคัญของ Business Model ในการขับเคลื่อนธุรกิจ พอเป็นแบบนี้มุมมองการทำงานของคนในทีมเทคโนโลยีเองก็ต้องปรับเปลี่ยนจากที่เคยเป็นฝ่าย Support เป็นฝ่าย Passive ก็ต้อง Active ขึ้นและให้ความสนใจ เข้าใจความเป็นธุรกิจให้มากขึ้น เป็นที่ปรึกษาให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ทีมอื่นที่ต้องปรับทีมเทคโนโลยีก็ต้องปรับเหมือนกัน เรียกว่าต่างฝ่ายต่างก็ต้องสร้าง Mindset ที่แตกต่างจากที่เคยเป็น

Mindset ที่ว่าต้องเป็นอย่างไรบ้างครับ

ต้องเริ่มจากเข้าใจเสียใหม่ว่าทุกฝ่ายต้องเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในส่วนของตนเอง เพราะเราจะต้องเป็นผู้นำในส่วนที่เรากำลังทำอยู่ แต่เวลาเราทำงานเราต้องทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น เพราะฉะนั้น เราจะต้องเป็นที่ปรึกษาของกันและกันให้ได้ ส่วนต่อมาก็ต้องเป็นเรื่องของการมองมุมมองที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้มองอะไรแค่มุมใดมุมหนึ่ง อย่างเมื่อก่อนทีมเทคโนโลยีก็ทำแค่งาน Support เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มาวางแผนกลยุทธ์อะไรมากมาย รับแผนรับนโยบายมาแล้วก็สร้างให้เกิด แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เราต้องเข้าใจภาพรวมของธุรกิจด้วย เราจะได้พัฒนาโปรดัคทางเทคโนโลยีหรือสร้างหรือพัฒนาขั้นตอนต่าง ๆ ได้ตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจจริง ๆ และสุดท้ายเราต้องพร้อมปรับตัวและไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดตอนนี้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก วิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป วัฒนธรรมองค์กรก็เปลี่ยนไป เราต้องพร้อมปรับตัวอย่ายึดติด

ในความเป็นจริงแล้วการทำงานไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับทีมไหน ๆ เราควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการสื่อสารที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่บอกไปว่าอยากได้อะไร แต่เราต้องถาม ต้องใส่ความใส่ใจลงไปเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าอีกฝ่ายเข้าใจเราจริง ๆ เพื่อไม่ให้งานสะดุดตั้งแต่เริ่มต้น เรื่องสื่อสารที่ชัดเจนก็จะเชื่อมโยงกับการอัพเดทสถานการณ์ต่าง ๆ เราต้องคอยอัพเดทสถานการณ์ต่าง ๆ ของทีม ปัญหา ความคืบหน้าทั้งหลายอยู่เสมอ อย่างทีมเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็จะมี Weekly Update หรือ Daily Standup ก็จะทำให้เรื่องของความคลาดเคลื่อนทางการสื่อสารลดลง

นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการเข้าใจเป้าหมาย เราจะลงมือทำอะไรสักอย่างก็ต้องเข้าใจเป้าหมายว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะมีผลอย่างไรบ้าง ใครได้รับผลกระทบบ้าง มีประโยชย์อย่างไร เวลาที่เราพัฒนาหรือต่อยอดงานของเราก็จะทำให้งานของเราคมขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็มาพร้อมกับการเรียนรู้ความหลากหลายทั้งของความต้องการของลูกค้า ของทีมอื่น ภาคทฤษฏีต่าง ๆ หยุดเรียนรู้ไม่ได้

สุดท้ายคงเป็นเรื่องของ Positive Energy และ Positive Environment ในการทำงาน ไม่ว่าจะ Work From Home ไม่ Work From Home สิ่งสำคัญคือ Mindset ที่ไม่ว่าเราจะทำงานที่ไหนเราต้องรู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำ บริษัทในต่างประเทศหลาย ๆ บริษัทหรือบริษัทใหญ่อย่าง Google เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขในการทำงาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าเรามีความสุข Productivity ก็จะตามมาเอง

ในปัจจุบันเองหลาย ๆ องค์กรก็มักจะพูดกันถึงคำว่า Digital Transformation พี่หนุ่ยคิดว่าปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะทำให้เกิด Digital Transformation ในองค์กรได้ครับ

ก่อนอื่นต้องมานั่งดูกันก่อนเลยว่าบริษัทหรือองค์กรแต่ละองค์กรที่อยากจะพาองค์กรเข้าสู่ความเป็น Digital ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากน้องแค่ไหน ทุกคนต้องตระหนักตรงนี้ให้ได้ก่อน สร้างเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าเราให้ความสำคัญในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน จริงจังแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หลังจากนั้นต้องมีนโยบายที่ไม่ได้เป็นแค่นโยบายแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งรับทราบแต่ต้องเป็นนโยบายที่ส่งไปถึงทุก ๆ คนในองค์กรให้ทุกคนรับรู้ อีกส่วนคือต้องมีคนที่พร้อมจะรับผิดชอบ พร้อมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดขึ้น บางองค์กรอาจจะให้ทีมเทคโนโลยีเป็นทีมหลักในการคิดและมีทีมอื่น ๆ เป็นฝ่ายสนับสนุน อย่างเช่น ต่อให้เราพยายามเข้าสู่เทคโนโลยีเราก็ยังต้องมีเรื่องของคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่าย HR ก็อาจจะเข้ามาช่วยสนับสนุนและผลักดันในด้านความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของบุคลากรในองค์กร Mindset ในความเป็นดิจิทัลของคนในองค์กร หรือการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงคนในกลุ่มต่าง ๆ ได้ สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติ เวลาที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลงมันคือการพัฒนาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องของการตรวจสอบ การพัฒนา การปรับปรุงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าเราเอาจริงในเรื่องนี้ เราต้องมีเรื่องของ Digital Culture เข้ามา ทำให้ทุกส่วนทุกขั้นตอนขององค์กรมีเทคโนโลยีเป็นส่วนเกี่ยวข้องให้ได้ เริ่มต้นคิดง่าย ๆ ถ้าวันนี้เราจะใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนองค์กร เราลองคิดดูว่า Digital Transformation จะส่งผลต่อพนักงานในบริษัทอย่างไรบ้าง เช่น การจัดประชุมจากที่เคยไปเขียนใบจองห้อง ก็เป็นระบบจองห้องประชุม มีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จะทำให้ Digital Transformation เกิดขึ้นได้ต้องคิดในมุม Digital Culture กับ Employee Experience เข้ามาด้วย 

สุดท้ายนี้พี่หนุ่ยมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ครับ

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสำหรับทุก ๆ อุตสหากรรม หรือที่เราคุ้นกันดีว่า Digital Disruption เทคโนโลยีเปลี่ยนใหม่ถูกทดแทนด้วยสิ่งที่เรียกว่า Social Media ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะค้นพบวิธีใหม่ในการดำเนินกิจการตลอดเวลา ในเรื่องแนวทางการทำงานทางด้านเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Knowledge Base หรือ Data Centric มากขึ้น ศักยภาพของฝ่ายเทคโนโลยีนั้นเป็นเหมือนฝ่ายที่อยู่ตรงกลางของการ Communicate และ Corporate ในองค์กร จะดึงศักยภาพออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรจะวาง Position ให้กับทีมนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จริง ผู้บริหารเองก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ให้ Direction ไม่ใช่แค่บริหารจัดการ แต่ต้อง Take Action ลงมือทำ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

keenprofile